
วันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มอบหมายให้ นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างมาตรฐานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) โดยมี นายศักดิ์ศิลป์ ตุลาธร ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยแรงงาน ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานฯ ผู้แทนกองนิติการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๔ กองความปลอดภัยแรงงาน อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
โดยฝ่ายเลขานุการได้เสนอ (ร่าง) ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการและการประเมินเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา และรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการ เพื่อนำไปปรับร่างประกาศฉบับดังกล่าวให้มีความเหมาะสมต่อไป
กสร. แนะสถานประกอบกิจการจัดทำแผนป้องกันอัคคีภัยผ่านหลัก 3 ต ติดตั้ง ตรวจสอบ และเตรียมความพร้อม หวังสร้างวัฒนธรรมให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการเกิดอัคคีภัย และลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญการป้องกันเหตุอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ โดยมุ่งหวังลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานสร้างการรับรู้มาตรการเชิงป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน เป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานบาดเจ็บหรือเสียชีวิตน้อยที่สุด รวมถึงทรัพย์สินของสถานประกอบกิจการไม่ให้เสียหายกสร. จึงจัดให้มีแคมเปญภายใต้ชื่อว่าSAFE LIFE โดยใช้หลัก 3 ต ซึ่งเป็นหนึ่งในแคมเปญดังกล่าว เพื่อป้องกันอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ ประกอบด้วย “ติดตั้ง” โดยต้องติดตั้งระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ ระบบป้องกันฟ้าผ่า และแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรอง “ตรวจสอบ” หมั่นตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย และเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ “เตรียมความพร้อม” ต้องจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย จัดอบรมการดับเพลิงขั้นต้นให้กับลูกจ้าง และฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟประจำปี โดยหลักดังกล่าวจะช่วยป้องกันและลดการเกิดอัคคีภัย พร้อมทั้งจะช่วยสร้างความปลอดภัยในการทำงาน ลดการประสบอันตรายจากการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อธิบดี กสร.กล่าวต่อไปว่าการแก้ปัญหาอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการถือเป็นเรื่องท้าทายที่ กสร.ต้องให้ความสำคัญและกำหนดให้มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในการทำงานรวมไปถึงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน ซึ่งกสร. ได้ขอความร่วมมือนายจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสภาพระบบและเครื่องมือป้องกันอัคคีภัยอย่างสม่ำเสมอ พร้อมชี้แนะให้นายจ้าง ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
เพื่อนำไปสู่เป้าประสงค์ของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน 0 2448 9128 - 39ต่อ 603 - 610
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนกรมให้เป็นองค์กรคุณธรรม โดยมุ่งมั่น ส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมภายในองค์กร ร่วมกันปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สร้างค่านิยม และจิตสำนึกที่ดีให้กับข้าราชการ และบุคลากรมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตระหนักและยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ รักษาสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนต่างๆ ในการนำกลไกประชารัฐมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและดำเนินการให้สัมฤทธิผล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน